อันโตนิโอ กรัมชี่ (1921)

ปัญญาชน

โดย อันโตนิโอ กรัมชี่
แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ปัญญาชนเป็นกลุ่มอิสระทางสังคมหรือไม่ หรือว่าทุกกลุ่มทุกชนชั้นจะมีปัญญาชนของตนเอง? ปัญหานี้ค่อนข้างจะสลับสับซ้อนเนื่องจากประวัติการวิวัฒนาการและรูปแบบที่แตกต่างออกไปของปัญญาชน รูปแบบปัญญาชนที่สำคัญที่สุดมีสองรูปแบบดังนี้

1) ทุกกลุ่มทุกชนชั้นทางสังคมเมื่อแรกกำเนิดขึ้นในระบบการผลิตของโลก จะก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการมีปัญญาชนของตนเองหลายๆ ชนิดในรูปแบบธรรมชาติ “อินทรีย์” ปัญญาชนเหล่านี้สามารถทำให้กลุ่มชนในชนชั้นมีความเป็นหนึ่งผ่านจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มหรือชนชั้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง นายทุนนักธุรกิจเมื่อแรกกำเนิดได้สร้างช่างอุตสาหกรรม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักวิชาการในระบบกฏหมาย ฯลฯ เราควรสังเกตว่าการกำเนิดของนายทุนเองเป็นการพัฒนาระดับของชนชั้นในโลกเพราะนายทุนต้องมีความสามารถทางปัญญาและทางเทคนิคอยู่เองระดับหนึ่ง เขาต้องเป็นผู้บริหารมวลชน และผู้บริหารความน่าเชื่อถือของกิจการเพื่อเอาใจทั้งนักลงทุนและลูกค้า

นายทุนทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความสามารถแบบนี้ แต่ต้องมีนายทุนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาจัดการสังคมได้ในระดับต่างๆ ขึ้นไปถึงการจัดการรัฐ หรืออย่างน้อยต้องมีคนที่สามารถแต่งตั้งและสั่งการผู้ช่วยที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ เพราะนายทุนมีความจำเป็นในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกิจการของชนชั้นตนเองเสมอ

เราจะเห็นว่า “ปัญญาชนอินทรีย์” ที่ทุกชนชั้นสร้างขึ้นมาเมื่อแรกกำเนิดชนชั้นนั้นๆ จะมีความสามารถเฉพาะของตนเองในแผนกและศาสตร์ต่างๆ แม้แต่ชนชั้นขุนนางเองก็ยังมีความสามารถในทางปัญญาแต่เป็นไปในแง่เดียวเท่านั้นคือแง่ของการทำสงคราม และเราจะเห็นได้ว่าจุดทางประวัติศาสตร์อันสำคัญที่ชนชั้นขุนนางเริ่มเสียเปรียบให้แก่นายทุนคือช่วงที่ขุนนางไม่สามารถเก็บและปกปิดความรู้ทางการทหารไว้ในมือของชนชั้นตัวเองได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามในกรณีชนชั้นชาวนาในยุคอดีตเราจะเห็นว่าถึงแม้ว่าปัญญาชนหลายคนมาจากชนชั้นนี้ แต่ชนชั้นชาวนาไม่มีปัญญาชนอินทรีย์ของตนเอง

2) ในขณะที่กลุ่มชนหรือชนชั้นใหม่กำเนิดขึ้นมาในยุคต่างๆ จะมีปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่ดำรงอยู่มาก่อนหน้านั้น และเขาคือมรดกที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือปัญญาชนศาสนาซึ่งในยุคอดีตผูกขาดความรู้ในลัทธิศาสนา ทั้งในด้านปรัชญาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และผูกขาดหน้าที่ในการบริการสังคมในด้านต่างๆ ด้วย เช่นการช่วยคนจน การเรียนการสอน และการตัดสินความยุติธรรมเป็นต้น ปัญญาชนกลุ่มนี้เดิมเป็นปัญญาชนอินทรีย์ของชนชั้นขุนนางหรือศักดินา และได้รับส่วนแบ่งจากการขูดรีดในระบบ แต่ในขณะเดียวกันการผูกขาดในทางปัญญาของปัญญาชนศาสนาก็ถูกท้าทายตลอดจากบางส่วนของสังคมขุนนางเอง เช่นอำนาจผู้นำทางการเมืองหรือกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์...

ปัญญาชนอนุรักษ์นิยมที่หลงเหลือมาจากยุคก่อนมักจะรวมตัวกันผ่านสมาคมหรือองค์กรของเขาเพื่อเสนอว่าตนเองเป็นปัญญาชน“อิสระ” ซึ่งความคิดแบบนี้มีผลกระทบในด้านความคิดทางการเมืองไม่น้อย เราสามารถพูดได้ว่า “ปรัชญาแนวคิดจิตนิยม” มาจากพวกปัญญาชนที่เพ้อฝันว่าตนเองอิสระจากกระบวนการของสังคมทั้งหมด....

นิยามของ “ปัญญาชน” คืออะไรในเมื่อกิจกรรมของปัญญาชนมีลักษณะหลากหลาย? ข้อผิดพลาดที่แล้วมาในการนิยามปัญญาชนมาจากการมองกิจการของปัญญาชนด้านเดียว โดยไม่มองว่ากิจการดังกล่าวมีความผูกพันอย่างไรกับระบบการผลิตของสังคม เราไม่ได้กำหนดว่าใครคือ “ชนชั้นกรรมาชีพ”จากการใช้แรงงานหรือการใช้สมอง แต่เรานิยามกรรมาชีพจากจุดยืนในความสัมพันธ์ทางการผลิต การนิยาม “นายทุน” ก็เหมือนกัน นายทุนเองก็ต้องมีความสามารถทางปัญญาแต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จำกัดว่าเขาเป็นนายทุนหรือไม่ สิ่งที่แสดงว่าเขาเป็นนายทุนคือการที่เขาควบคุมระบบการผลิต

เราสามารถพูดได้ว่ามนุษย์ทุกคนคือปัญญาชน แต่ในสังคมมนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัญญาชน ในลักษณะเดียวกันการที่เราอาจทอดไข่หรือเย็บผ้าเป็นบางครั้งบางคราวไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพ่อครัวแม่ครัวหรือช่างตัดเย็บ ดังนั้นปัญญาชนมีบทบาทเฉพาะที่เกิดมาจากอดีต บทบาทดังกล่าวเกิดขึ้นมาควบคู่กันไปกับการกำเนิดชนชั้นทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นหลักๆ สิ่งที่น่าสังเกตคือชนชั้นที่ต้องการจะขึ้นมาครอบงำสังคมจำต้องหาทางครอบงำปัญญาชนยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของชนชั้นใหม่ แต่การยึดครองความคิดของปัญญาชนดังกล่าวกระทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นถ้าชนชั้นใหม่มี “ปัญญาชนอินทรีย์” ของตนเองด้วย.....

สรุปแล้วปัญญาชนมีสองประเภทคือ “ปัญญาชนอินทรีย์” ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง และปัญญาชนดั้งเดิม .... แต่ปัญหาคือ พรรคการเมืองควรมีท่าทีต่อปัญญาชนอย่างไร?

สำหรับบางกลุ่มบางชนชั้น พรรคการเมืองของเขาเป็นการรวมตัวกันของปัญญาชนอินทรีย์ที่สังกัดกับชนชั้นดังกล่าว และเขาจะมีหน้าที่เฉพาะในด้านการเมืองและปรัชญา ....แต่แท้จริงแล้วสำหรับทุกกลุ่มทุกชนชั้น องค์กรของพรรคการเมืองมีหน้าที่ใน “ประชาสังคม” คล้ายๆ กับหน้าที่ของรัฐในด้านการเมืองทั่วไป คือมีหน้าที่ในการประสานปัญญาชนอินทรีย์ของชนชั้นหลักเข้ากับปัญญาชนดั้งเดิม....และปัญญาชนดั้งเดิมที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคก็จะถูกกลมกลืนเข้าไปในกลุ่มปัญญาชนอินทรีย์ของชนชั้นนั้นในที่สุด

การเสนอว่าสมาชิกของพรรคการเมืองทุกคนเป็นปัญญาชนอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าเราตรวจสอบให้ดีเราจะพบว่าข้อเสนอนี้เป็นความจริงทีเดียว....นักธุรกิจไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อประกอบธุรกิจ นายทุนอุตสาหกรรมไม่ได้สมัครเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต ชาวนาไม่ได้สมัครเพื่อเรียนรู้วิธีเพาะปลูก นักธุรกิจ นายทุน หรือชาวนา ล้วนแต่มีองค์กรอาชีพของเขาสำหรับบทบาทดังกล่าวแบบนี้... ในพรรคการเมืองบทบาทของสมาชิกคือการแปรตัวมาเป็นผู้ปฏิบัติการในกิจการด้านกว้างๆ ระดับชาติและระดับสากล

จากบทความที่คัดเลือกจาก “สมุดบันทึกจากคุก”
Forgacs (1999) หน้า 301-311
จาก Forgacs, D. (ed) (1999) The Antonio Gramsci Reader: Selected writings 1916-1935.Lawrence & Wishart, London.